เสริมโภชนาการลูกให้ครบ ด้วยเมนูอาหารสำหรับเด็ก 6 เดือน

ในเกือบจะทุกครอบครัวเมื่อลูกน้อยอายุใกล้จะครบ 6 เดือน มักจะตื่นเต้นกับพัฒนาการที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดของลูกน้อย เช่น คอที่แข็งแรงเต็มที่ สนใจการเล่น รู้จักชื่อตัวเอง สนุกที่สุดกับการเรียกชื่อแล้วเล่นจ๊ะเอ๋ และฟันซี่แรกที่กำลังจะผุดจากเหงือก

นมแม่เพียงอย่างเดียวดูเหมือนจะไม่สร้างความอิ่มท้องให้ลูกน้อยที่มีกิจกรรมมากขึ้น จึงจำเป็นต้องทำเรียนรู้วิธีเตรียมอาหารสำหรับเด็ก 6 เดือน และอาหารใดบ้างที่จะมอบคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนเหมาะสมกับวัยลูกน้อย เราจะมาเรียนรู้ไปด้วยกันกับบทความนี้ จุดเริ่มต้นสำหรับการให้อาหารเสริมแด่ลูกน้อย อาหารสำหรับเด็ก 6 เดือนที่ขาดไม่ได้คือ ข้าวกล้อง โดยหุงรวมกับถั่ว แล้วบดให้ละเอียด สามารถทานร่วมกับผักและผลไม้ได้ อย่าง แครอท ลูกเดือย ตำลึง ผักโขม ผักปวยเล้ง ข้าวโพดอ่อน บรอกโคลี ฟักทอง ผักกาดขาว ฟักเขียว มันเทศ แอปเปิล รวมไปถึงอโวคาโด โดยให้ทาน 1 เมนูผัก ต่อ 3-5 วัน เพื่อสังเกตอาการแพ้ หากไม่มีอาการแพ้ใด ๆ จึงเปลี่ยนเมนูผักในวันถัดไป เพื่อให้ลูกน้อยได้รับอาหารที่หลากหลาย รวมไปถึงสารอาหารที่ครบถ้วนเพิ่มเติมจากน้ำนมแม่

สำหรับอโวคาโดนั้น ถือเป็นอาหารสำหรับเด็ก 6 เดือน ที่ทรงคุณค่ามหาศาล มีสารตั้งต้นของดีเอชเอ ช่วยบำรุงสมอง และสายตามากกว่าผักทั่วไป สำหรับการหุงข้าวกล้องและถั่วนั้น ควรแช่น้ำทิ้งไว้ก่อนหุงประมาณ 1 วัน แล้วจึงต้มให้สุกด้วยน้ำเปล่า หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการต้มด้วยน้ำซุปผักสามารถทำได้ แต่ไม่ควรใช้น้ำซุปต้มกระดูกหมูหรือกระดูกไก่ เพราะลูกน้อยวัย 6 เดือน ยังไม่ควรเริ่มรับประทานไขมันจากสัตว์ เพราะอาจส่งผลไม่ดีต่อระบบย่อยอาหาร จึงควรใช้น้ำเปล่าหรือน้ำซุปผักจะดีกว่า ทั้งนี้น้ำซุปผักไม่ควรปรุงรสด้วยเครื่องปรุงรสใด ๆ เพราะอาจทำให้ลูกน้อยติดรสชาติ ซึ่งส่งผลไม่ดีต่อสุขภาพ หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการปรุงรสในเมนูอาหารของลูกน้อย ให้เติมนมแม่ลงไปในอาหารสำหรับเด็ก 6 เดือนประมาณ 1 ช้อนชา เพื่อให้ลูกน้อยได้กลิ่นที่ชินต่อการรับประทาน และกล้าลองเมนูใหม่ ๆ ที่เสริมสร้างพลานามัยให้แก่วัยของเขา สำคัญที่สุดไม่ควรใช้ไมโครเวฟปรุงอาหารจากดิบเป็นสุก เพราะจะสุกไม่ทั่วถึง ดังนั้นการต้มด้วยหม้อจะเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด สำหรับการบดอาหารสำหรับเด็ก 6 เดือนนั้น ให้ใช้วิธีปั่นละเอียดหรือครูดผ่านกระชอน ในวัยนี้ลูกน้อยสามารถหัดดื่มน้ำจากถ้วยได้แล้ว สามารถป้อนน้ำลูกด้วยช้อนหากทานข้าวบดแล้วฝืดคอได้ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กังวลว่าโปรตีนจากนมแม่จะไม่เพียงพอต่อลูกน้อยวัย 6 เดือน ขอให้อดใจรออีกสัก 1 เดือน เมื่อลูกน้อยอายุครบ 7 เดือน สามารถปรับเปลี่ยนเมนูข้าวกล้องบดผักต้มได้เลย โดยใส่เพิ่มด้วย ไก่สับ หมูสับ หรือเนื้อปลาน้ำจืด อาหารสำหรับเด็ก 6 เดือนนั้นควรให้เพียงวันละ 1 มื้อ เพื่อให้กระเพาะอาหารและลำไส้ไม่ทำงานหนักเกินวัย โดยอาหารบดนั้นควรบดละเอียดและมีน้ำคลุกคลิกให้ลูกน้อยง่ายต่อการใช้เหงือกเคี้ยวและกลืน นอกเหนือจากนั้นคือยังคงป้อนนมแม่เป็นอาหารหลักเช่นเดิม

ในวัยทารกของลูกน้อยนั้น อาหารอันทรงคุณค่าที่สุดคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าคือนมแม่ซึ่งเปี่ยมล้นด้วยโปรตีนที่สร้างภูมิต้านทานโรคดั่งวัคซีนชั้นเยี่ยม แต่ทว่าเมื่ออายุครบ 6 เดือน ร่างกายของลูกน้อยจำเป็นต้องได้รับพลังงานและสารอาหารบางชนิดเพิ่มเติม เพื่อให้เหมาะสมกับวัยของเขา เช่น เหล็ก สังกะสี แคลเซียม วิตามินเอ ไอโอดีน เป็นต้น ทั้งหมดนั้นล้วนอยู่ในผักผลไม้ที่ระบุในบทความนี้ทั้งสิ้น เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านสามารถสร้างสรรค์เมนูอาหารสำหรับเด็ก 6 เดือนที่สมวัยให้แด่ลูกรักได้ มาสร้างเด็กฉลาด แข็งแรงด้วยการเสริมโภชนาการลูกให้ครบกันเถอะ