คู่มืออาหารเสริม สำหรับลูกน้อย

1: เด็กทารกควรเริ่มให้อาหารเสริมเมื่อไหร่ดี

โดยทั่วไปนมแม่เพียงอย่างเดียวก็เพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตของเด็กช่วงวัยตั้งแต่แรก เกิดจนถึง 6 เดือน ดังนั้นแพทย์จึงแนะนำให้เด็กเริ่มทานอาหารเสริมเมื่ออายุครบ 6 เดือน เพื่อรอให้ระบบทางเดินอาหารพร้อมต่อการทำงานเสียก่อน แต่ในบางกรณี เช่น เด็กที่ไม่ได้รับนมแม่เพียงพอ หรือมีน้ำหนักตัวน้อย คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถเริ่มให้อาหารเสริมก่อนได้ ตั้งแต่เด็กมีอายุ 4 เดือนขึ้นไป แต่จะต้องสังเกตความพร้อมในการทานอาหารของเด็กด้วยค่ะ 

สัญญาณต่างๆมีดังนี้
1.ชันคอได้แข็งแรงและนั่งได้ตรงดีแล้ว - เด็กจะต้องทรงตัวได้ดีทั้งช่วงคอและลำตัว เพื่อป้องกันการสำลักอาหาร
2.รีเฟลกซ์การดุนลิ้นหายไป -เด็กทุกคนจะเกิดมาพร้อมปฏิกิริยาตอบสนองที่จะดุนลิ้นออกเมื่อมีสิ่งของเข้ามาในปาก (extrusion reflex) ซึ่งจะหายไปหลังมีอายุได้ 4 เดือน
3.ทำท่าเคี้ยว - ใช้ขากรรไกรบดขึ้นลงในลักษณะเหมือนเคี้ยวอาหารได้
4.เริ่มแสดงท่าทางสนใจในอาหาร - เริ่มมองอาหารที่ผู้ใหญ่ทานอยู่ และดูเหมือนจะยังหิวแม้ว่าจะทานนมไปแล้ว

การเช็คความพร้อมของเด็กให้แน่ใจก่อนที่จะเริ่มต้นให้อาหารเสริมมีความสำคัญมาก เพราะถ้าเริ่มต้นให้อาหารเร็วเกินไป ระบบทางเดินทางอาหารของเด็กยังทำงานได้ไม่ดี ก็อาจเกิดอาการท้องร่วง ลำไส้อุดตัน หรือลำไส้อักเสบซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่มีข้อสงสัยก็ควรปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญก่อนที่จะเริ่มต้นมื้ออาหารเสริมให้กับเด็กๆกันนะคะ

คู่มืออาหารเสริม

 

2: ความต้องการอาหารเสริมของทารก

ในเด็กที่มีอายุมากกว่า 6 เดือน การทานนมแม่เพียงอย่างเดียวจะทำให้เด็กได้รับพลังงานไม่เพียงพอ และอาจขาดสารอาหารบางอย่างได้ (เช่น ธาตุเหล็ก สังกะสี แคลเซียม และวิตามินเอ)

ดังนั้นเมื่อเด็กพร้อมสำหรับการรับประทานอาหารแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถเริ่มต้นมื้ออาหารเสริมแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามความต้องการของเด็กในแต่ละวัยได้ดังนี้

อายุ 6-8 เดือน : ต้องการอาหารเสริม 1 มื้อต่อวัน ควบคู่กับนมแม่ (โดยจะลดปริมาณนมแม่ลงไป 1 มื้อ หลังเริ่มทานอาหารเสริม) การเริ่มต้นอาหารเสริมควรเริ่มทีละน้อย ช่วงแรกควรทดลองให้เพียง 1-2 ช้อนก่อน แล้วจึงค่อยๆเพิ่มปริมาณขึ้น
ปล. อายุ 7 เดือน จะเริ่มมื้อผลไม้ เป็นอาหารว่าง แนะนำเริ่มจากผลไม้ที่มีรสอ่อน ไม่หวานจัด เช่น แอปเปิ้ล กล้วย มะละกอ เป็นต้น

อายุ 8-10 เดือน : ต้องการอาหารเสริม 2 มื้อต่อวัน ควบคู่กับนมแม่ (โดยทั่วไปมักลดปริมาณนมแม่ลงเหลือ 4-5 มื้อต่อวัน)

อายุ 10-12 เดือน : ต้องการอาหารเสริม 3 มื้อต่อวัน ควบคู่กับนมแม่

จะเห็นได้ว่าเด็กในขวบปีแรกนั้น ยังมีนมแม่เป็นอาหารหลัก อาหารอื่นๆเป็นเพียงอาหารเสริม แม้ว่าจะลดปริมาณนมที่ทานลงไปบ้างก็ตาม จนเมื่อเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไปแล้ว เด็กจึงจะทานอาหาร 3 มื้อเป็นหลัก และทานนมเป็นอาหารเสริมแทนค่ะ

 

คู่มืออาหารเสริม2

 

3: วัตถุดิบในการทำอาหารเสริมสำหรับเด็ก

เด็กเล็กเองก็ต้องการสารอาหารนานาชนิดเช่นเดียวกันกับผู้ใหญ่ เราจึงควรให้เด็กได้รับประทานอาหารจากวัตถุดิบที่หลากหลาย โดยค่อยๆเริ่มต้นจากการลองรับประทานอาหารไปทีละอย่าง ติดต่อกันอย่างน้อย 2-3 วัน ก่อนที่จะเริ่มอาหารชนิดต่อๆไป เพื่อคอยสังเกตอาการว่ามีปฏิกิริยาแพ้อาหารที่ให้ไปหรือไม่

ซึ่งวัตถุดิบที่เหมาะสำหรับการทำอาหารเสริมให้เด็กมีดังนี้ค่ะ

1.ผักต่างๆ : ช่วยให้กากใยอาหาร วิตามิน เกลือแร่ และควรเน้นผักที่มีวิตามินเอสูง เช่น ตำลึง ผักบุ้ง ฟักทอง และแครอท
2.ผลไม้ : ควรเลือกผลไม้ที่ไม่หวานจัด เช่น มะละกอ กล้วยน้ำว้า
3.ไข่ : ควรปรุงให้สุกทุกครั้ง และควรเริ่มให้ไข่แดงก่อน เนื่องจากเด็กมีโอกาสแพ้ไข่ขาวมากกว่าไข่แดง
4.ถั่วและผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น เต้าหู้ : เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญ ยกเว้นถั่วเปลือกแข็ง แนะนำให้เริ่มหลัง 1 ปีขึ้นไป เนื่องจากมีโอกาสแพ้สูง
5.เนื้อสัตว์ : สามารถให้ทานได้ทั้งเนื้อหมู เนื้อไก่ และเนื้อปลา โดยต้องปรุงให้สุดทุกครั้ง ยกเว้น ปลาทะเล และอาหารทะเลทุกชนิด แนะนำให้เริ่มหลัง 1 ปีขึ้นไป เนื่องจากมีโอกาสแพ้สูง
6.ตับ : ทั้งตับหมูและไก่ เป็นแหล่งอาหารที่ให้วิตามินและธาตุเหล็กสูง

ทั้งนี้อาหารเสริมของเด็กนั้นไม่ควรปรุงแต่งรสชาติใดๆ และควรบดให้มีลักษณะกึ่งแข็งกึ่งเหลว โดยเริ่มจากบดค่อนข้างละเอียด และค่อยๆเพิ่มความหยาบขึ้นเรื่อยๆตามอายุ เพื่อกระตุ้นให้เด็กหัดเคี้ยวและกลืนค่ะ

 

คู่มืออาหารเสริม2

 

4: อาหารที่ควรเลี่ยงในเด็กเล็ก

อาหารบางชนิดเป็นอันตรายกับเด็กเล็กได้ จึงควรหลีกเลี่ยงที่จะนำมาปรุงเป็นอาหารเสริมในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี 

1.เครื่องปรุงรส (เช่น เกลือ ซีอิ๊ว น้ำมันหอย น้ำปลาและน้ำตาล) อาหารเสริมของเด็กเล็กไม่ควรปรุงรสใดๆ เพราะระบบการทำงานของไตเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ และของหวานก็เสี่ยงที่จะทำให้เกิดฟันผุ และโรคอ้วน ซึ่งควรระวังไปถึงเครื่องปรุงรสที่อาจแอบแฝงมากับอาหารสำเร็จรูปต่างๆด้วย คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาฉลากให้ดีก่อนใช้อาหารสำเร็จรูป และไม่ควรใช้ซุปก้อนหรือซุปผงในการปรุงอาหาร

2.น้ำผึ้ง นอกจากมีน้ำตาลมากแล้ว น้ำผึ้งยังมีสปอร์ของแบคทีเรีย Clostridium botulinum ซึ่งสร้างสารพิษที่เป็นอันตรายต่อลำไส้ของทารกได้

3.ไข่ดิบ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ เป็นแหล่งของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษได้ จึงควรปรุงให้สุกทั้งไข่แดงและไข่ขาว และควรระวังอาหารที่อาจมีส่วนผสมของไข่ดิบ เช่น น้ำสลัด มายองเนส

4.เนื้อสัตว์ดิบ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ อาจมีเชื้อแบคทีเรียที่มีสารพิษอันตรายได้ โดยเฉพาะหอยและสัตว์ทะเล

5.อาหารที่มีเนื้อแข็ง เหนียว หรือมีเมล็ด ซึ่งเสี่ยงต่อการสำลักอาหารและอุดกั้นทางเดินหายใจได้

และนอกจากอาหารที่ควรเลี่ยงข้างต้นแล้ว ยังมีอาหารบางชนิดที่แม้จะปลอดภัยกับเด็กส่วนใหญ่ แต่ต้องระวังเป็นพิเศษเด็กที่มีความเสี่ยงแพ้อาหาร ซึ่งจะพูดถึงในหัวข้อถัดไป

 

คู่มืออาหารเสริม4

 

5: อาหารที่เสี่ยงต่อการแพ้

อาหารบางชนิด แม้ว่าจะเป็นอาหารที่มีประโยชน์ และปลอดภัยในกรณีทั่วๆไป แต่หากลูกน้อยส่งสัญญาณว่าเสี่ยงต่อการแพ้อาหาร คุณพ่อคุณแม่ก็ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ

เพราะการศึกษาที่ผ่านมา พบว่า 90% ของการแพ้อาหาร จะเกิดจากอาหาร 8 ชนิด (หรือที่มักเรียกกันว่าอาหารในกลุ่ม top 8) ดังนี้ 
1.นมวัว
2.ไข่
3.ถั่วลิสง
4.ถั่วเปลือกแข็ง เช่น แอลมอนด์ วอลนัท มะม่วงหิมพานต์
5.ถั่วเหลือง
6.ปลา
7.สัตว์ทะเลที่มีเปลือก เช่น ปู กุ้ง
8.ข้าวสาลี

โดยอาการแพ้อาหารที่พบในเด็กเล็ก มีอาการแสดงออกได้หลายระบบ นั่นคือ
1.ผิวหนัง เด็กอาจมีผื่นแดงคันขึ้นตามร่างกาย หรืออาจมีผื่นนูนแดงแบบลมพิษได้
2.ทางเดินอาหาร ลูกอาจปวดท้อง ถ่ายเหลวบ่อยครั้งและมีมูกเลือดปน
3.ทางเดินหายใจ ลูกอาจหายใจไม่สะดวก มีเสียงดังครืดคราด ซึ่งอาจกลายเป็นอาการเรื้อรัง

ซึ่งหากสงสัยว่าลูกแพ้อาหาร คุณพ่อคุณแม่ควรพาไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติมต่อไป

 

คู่มืออาหารเสริม5

 

6: การกระแอมอาหาร (gagging)

ช่วงที่เด็กกำลังฝึกกลืนอาหาร ถ้ากินอาหารมากไป หรือกินเร็วเกินไป ก็อาจจะมีอาการกระแอมและดุนอาหารออกมา พร้อมกับเสียงที่ดูน่าตกใจอยู่บ้าง แต่อาการกระแอมอาหาร (หรือที่เรียกว่า gagging) นั้นเกิดจากกลไกตามธรรมชาติของร่างกาย เพื่อให้เด็กมีโอกาสได้เคี้ยวอาหารใหม่อีกครั้งก่อนที่จะกลืน ไม่อันตราย และแตกต่างจากการสำลักอาหาร(choking) ที่เกิดจากอาหารไปอุดกั้นทางเดินหายใจ

ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการที่ต่างกันได้ดังนี้

การกระแอมอาหาร (gagging)
เด็กจะใช้ลิ้นดุนอาหาร ไอ และทำท่าเหมือนจะอาเจียน เพื่อให้อาหารออกมาจากคอ แม้ว่าเด็กอาจจะดูทรมานจนน้ำตาไหล แต่อาการนี้ไม่เป็นอันตราย คุณพ่อคุณแม่แค่รอให้เด็กกระแอมอาหารออกมา อาการก็จะหยุดได้เอง

การสำลักอาหาร (choking) 
อาหารจะอุดกั้นทางเดินหายใจจนเด็กไม่สามารถร้องหรือไอออกได้ เด็กจะพยายามไอแต่ไม่มีอะไรออกมา ร้องไห้ไม่มีเสียง หน้าเขียว ตาเหลือก หรือหมดสติได้ ซึ่งจำเป็นต้องช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน


 

คู่มืออาหารเสริม6